คลินิกเต้านมโรงพยาบาลราชพฤกษ์ มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการวินิจฉัยและรักษาคุณสุภาพสตรีที่มีปัญหาเกี่ยวกับเต้านม ที่อาจเกิดจากมะเร็งเต้านม หรือ เนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง อาการเจ็บเต้านมที่อาจเกิดจากพังผืดหรือถุงน้ำที่เต้านม มีสารคัดหลั่งไหลออกมาจากหัวนม รวมถึงการมีก้อนที่รักแร้
คลินิกเต้านมโรงพยาบาลราชพฤกษ์ ให้บริการรักษาที่ครบวงจร ประกอบด้วย ศัลยแพทย์ รังสีแพทย์สาขารังสีวินิจฉัยและภาพวินิจฉัยเต้านม รังสีแพทย์สาขารังสีรักษา และอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเคมีบำบัด พยาธิแพทย์ ที่ทำงานเป็นทีมเพื่อให้การดูแลท่านอย่างใกล้ชิดพร้อมวางแผนการรักษาเฉพาะบุคคลตามมาตรฐานสากล เช่น ให้บริการรักษาแบบสงวนเต้านมสำหรับสุภาพสตรีที่เป็นมะเร็งในระยะเริ่มต้น มีรังสีแพทย์ที่ให้คำปรึกษาและให้การรักษาที่มุ่งเน้นการใช้รังสีรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมดสำหรับผู้ป่วยที่สามารถทำการรักษาแบบเก็บเต้านมเอาไว้ได้ เป็นต้น
การวินิจฉัยโรคเต้านม
โรงพยาบาลราชพฤกษ์ให้บริการการตรวจคัดกรองและการวินิจฉัยมะเร็งเต้านมโดยการถ่ายภาพแมมโมแกรมระบบดิจิทัลที่ทันสมัยและมีความคมชัดสูงพร้อมเครื่องอัลตร้าซาวด์ที่สามารถตรวจหาความผิดปกติได้ก่อนการตรวจจากการคลำเต้านม โรงพยาบาลราชพฤกษ์ยังมีทีมนักรังสีเทคนิคหญิงที่มีความชำนาญให้การตรวจที่นุ่มนวล เบามือและรวดเร็ว
บริการของคลินิกเต้านม ของโรงพยาบาลราชพฤกษ์ ให้บริการด้านการวินิจฉัยปัญหาและโรคของเต้านม ดังนี้
- การตรวจเต้านมโดยละเอียดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
- การตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมระบบดิจิตัลที่ทันสมัยและเครื่องอัลตราซาวด์
- การเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อหรือถุงน้ำของเต้านมโดยใช้เข็มขนาดเล็กดูดเซลไปตรวจ
- การเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อโดยใช้เข็มเจาะตัดชิ้นเนื้อของเต้านมโดยอาศัยเครื่องอัลตร้าซาวน์นำทาง
- การเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อโดยการผ่าตัด ในกรณี :
- แพทย์คลำก้อนได้ สามารถผ่าตัดก้อนได้ทันทีในกรณีไม่มีข้อระวังอื่นๆร่วม
- หากแพทย์คลำก้อนไม่ได้ เช่น การพบกลุ่มหินปูนที่สงสัยมะเร็งจากการตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรม รังสีแพทย์จะใช้ลวดนำทางวางตรงตำแหน่งหินปูนโดยอาศัยเครื่องแมมโมแกรม (Needle Localization) ก่อนการผ่าตัด
มาร่วมรณรงค์ตรวจหามะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้นกันเถอะ…
ขณะนี้ประเทศไทยมีรายงานพบมะเร็งเต้านมมากเป็นอันดับหนึ่งของมะเร็งในหญิงไทย แม้ว่าจะมีอัตราการพบมะเร็งเพียง 40 คน ในสตรีวัยเจริญพันธุ์ 1แสนคนต่อปี แต่พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีๆ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันพบว่ามะเร็งเต้านมมีอัตราการตายลดลงอย่างชัดเจนถ้าหากตรวจพบมะเร็งในระยะเริ่มต้น ดังนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมจึงมีความสำคัญ
ที่น่าสะพรึงกลัวของโรคมะเร็งเต้านมคือในระยะเริ่มต้นของโรคจะไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆเลยจนกว่าจะคลำได้ก้อนจึงมาพบแพทย์จึงทำให้ระยะของโรคเป็นมากขึ้น จากงานวิจัยหลายฉบับที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติได้ลงความเห็นไปทางเดียวกันว่าการตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมสามารถค้นหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้นได้ การตรวจแมมโมแกรมยังถือเป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่ยอมรับในระดับมาตรฐานสากลทำให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยโรคอย่างรวดเร็วและมีโอกาสรักษาหายขาดและรอดชีวิตมากขึ้น
ใครบ้างที่ควรตรวจ
- ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจแมมโมแกรมปีเว้นปีหรือทุกปี
- ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจแมมโมแกรมทุกปี
- ผู้หญิงที่เคยเป็นมะเร็งเต้านม
- ผู้หญิงที่มีอาการผิดปกติ เช่น คลำก้อนได้ ปวด หรือมีของเหลวผิดปกติโดยเฉพาะเลือดหรือน้ำสีแดงไหลออกจากหัวนม หรือมีแผลเรื้อรังที่หัวนม
ใครบ้างที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม
- มีประวัติครอบครัวโดยเฉพาะญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมและหรือมะเร็งรังไข่
- ตรวจพบพันธุกรรม(gene) BRCA1*, BRCA2*
- มีประจำเดือนมาครั้งแรกอายุน้อยกว่า 11 ปี หรือ หมดประจำเดือนเมื่ออายุมากกว่า 55 ปี
- ไม่เคยมีบุตร หรือ ไม่เคยให้นมบุตร
- รับประทานโฮร์โมนเป็นเวลานาน เช่น เพื่อการคุมกำเนิด เพื่อรักษาเสริมด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือ เพื่อช่วยในการเจริญพันธ์ เป็นต้น
- เคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน
- มีพยาธิสภาพของเต้านมที่มีโอกาสกลายเป็นมะเร็งสูง* เช่น lobular carcinoma in situ, atypical ductal hyperplasia
- เคยได้รับการรักษาด้วยการฉายแสง บริเวณหน้าอก* ได้แก่ โรค มะเร็งต่อมน้ำเหลือง Hodgkin disease, non-Hodgkin lymphoma
*แพทย์ประจำคลินิกเต้านมจะให้คำอธิบายเพิ่มเติม
ทำไมเครื่องแมมโมแกรมระบบดิจิตัลจึงตรวจหามะเร็งเต้านมได้ดีกว่าเครื่องแมมโมแกรมรุ่นเก่า
- ภาพถ่ายจากเครื่องแมมโมแกรมระบบดิจิตัลจะให้ภาพที่มีความคมชัดสูง ทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างเนื้อเยื่อของเต้านมกับความผิดปกติ เช่น หินปูน ก้อน ได้อย่างชัดเจน
- ภาพเต้านมจะปรากฏบนจอคอมพิวเตอร์ที่มีความละเอียดสูงได้ภายในเวลาที่รวดเร็วโดยไม่ต้องใช้ฟิล์มเอกซเรย์
- ภาพแมมโมแกรมช่วยให้แพทย์ผู้ส่งตรวจสามารถตัดสินใจให้การดูแลรักษาได้รวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น
เตรียมตัวอย่างไรก่อนมาตรวจแมมโมแกรม
- ในวันที่เข้าตรวจควรงดทาแป้งและหรือสารระงับกลิ่นกายหรือโลชั่นที่บริเวณรักแร้และเต้านม เนื่องจากส่วนผสมของสารเหล่านี้อาจทำให้มีลักษณะคล้ายกับจุดหินปูนบนภาพแมมโมแกรมได้
- ควรนัดตรวจในช่วงเวลาหลังมีประจำเดือนหนึ่งสัปดาห์ โดยนับจากวันแรกที่เริ่มมีประจำเดือน เพื่อหลีกเลี่ยงในสตรีที่มีโอกาสตั้งครรภ์ และช่วยลดอาการเจ็บเต้านมระหว่างการตรวจแมมโมแกรม