คลินิกเวชศาสตร์การกีฬา

รายละเอียด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

รายละเอียด

คลินิกเวชศาสตร์การกีฬา

ในปัจจุบันผู้คนสนใจดูแลสุขภาพร่างกายและออกกำลังกายกันมากขึ้น โดยการออกกำลังกายนั้นอาจจะเพื่อการสันทนาการ สร้างเสริมสุขภาพ หรือออกกำลังกายเพื่อการแข่งขันในระดับต่าง ๆ จึงทำให้พบว่ามีรายงานการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายหรือจากการทำงานมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยการบาดเจ็บสามารถเกิดได้ในทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ลักษณะของการบาดเจ็บนั้นอาจจะเป็นในลักษณะการบาดเจ็บที่เกิดเฉพาะที่แบบฉับพลัน (acute injuries)  การบาดเจ็บที่เกิดเฉพาะที่ที่เกิดจากการใช้งานหนักเป็นระยะเวลานาน (overused injuries) และการบาดเจ็บทั้งระบบ (systemic injuries)

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดการบาดเจ็บได้นั้นมีหลายปัจจัย โดยสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่

1. ปัจจัยภายในของผู้ป่วยเอง (Intrinsic factor) เช่น อายุ เพศ โรคประจำตัว การบาดเจ็บที่มีมาก่อน ความพร้อมของร่างกาย การฝึกฝนที่เหมาะสม ทักษะในการเล่นกีฬา และสภาพจิตใจ เป็นต้น

2. ปัจจัยภายนอก (Extrinsic factor) เช่น ลักษณะของกีฬาที่เล่น ตำแหน่งในการเล่น สภาพอากาศ เวลาการแข่งขัน และอุปกรณ์การแข่งขัน เป็นต้น

เพื่อเป็นการป้องกันการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดจากการออกกำลังกาย จึงขอแนะนำให้ผู้ที่สนใจออกกำลังกายเตรียมความพร้อมและประเมินความเสี่ยงก่อนออกกำลังกายนั้น ๆ โดยการเตรียมตัวทั้งก่อนและหลังการออกกำลังกายควรจะต้องมีการอบอุ่นร่างกายและคลายอุ่นร่างกายเสมอ (warm up and cool down) เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดการบาดเจ็บ แต่ถ้าเกิดการบาดเจ็บขึ้นก็ควรจะได้รับการดูแลเบื้องต้นที่เหมาะสม  และส่งตัวต่อเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสม

โดยการรักษาเบื้องต้นก่อนพบแพทย์นั้นควรจะยึดตาม RICE protocol ได้แก่

R, Rest: พักการใช้งาน และอาจจะต้องทำการดามตำแหน่งที่บาดเจ็บถ้าพบว่าเป็นการบาดเจ็บที่รุนแรงหรือมีความผิดรูป

I, Ice: การประคบเย็นเพื่อลดบวม ลดปวด ลดการอักเสบ หลีกเลี่ยงการประคบอุ่นหรือบีบนวดตำแหน่งที่บาดเจ็บ

C, Compression: การพันผ้ายืดเพื่อลดอาการบวมในตำแหน่งที่บาดเจ็บ แต่ไม่ควรพันแน่นจนเกินไป

E, Elevation: ยกส่วนบาดเจ็บให้อยู่ในระดับที่สูงระดับหัวใจเพื่อลดอาการบวม

คลินิกเวชศาสตร์การกีฬา (Sports Medicine Clinic) ณ โรงพยาบาลราชพฤกษ์ พร้อมให้คำแนะนำแก่ผู้ที่สนใจออกกำลังกายในการเตรียมตัวและการป้องกันการบาดเจ็บ นอกจากนั้นยังพร้อมให้การตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาผู้ที่ได้รับการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายหรือบาดเจ็บที่เกิดจากการทำงานด้วยวิธีที่เป็นมาตรฐานและทันสมัย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมและรอบด้านเราจึงทำงานร่วมกับหลายสาขาวิชาชีพดูแลผู้ป่วย โดยเป้าหมายเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปเล่นกีฬาหรือทำงานได้ตามปกติหรือใกล้เคียงปกติมากที่สุด

 โรงพยาบาลราชพฤกษ์ จัดให้มีพื้นที่ของห้องตรวจผู้ป่วยในการตรวจวินิจฉัย ห้องกายภาพ และห้องผ่าตัดรักษาที่ทันสมัยได้มาตรฐานความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล JCI (Joint Commission International) 

คลินิกเวชศาสตร์การกีฬา ให้บริการตรวจรักษาการบาดเจ็บข้อต่อ กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็น ที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายหรือการทำงาน โดยครอบคลุมการดูแลการบาดเจ็บต่าง ๆ เช่น  

  • เส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาด (ACL injuries)
  • เส้นเอ็นไขว้หลังข้อเข่าฉีกขาด (PCL injuries)
  • เส้นเอ็นประกับข้างฉีกขาด (medial and lateral ligament injuries)
  • หมอนรองกระดูกข้อเข่าฉีกขาด (meniscus injuries)
  • ข้อเข่าไม่มั่นคง (knee instability)
  • ข้อไหล่หลุด (shoulder dislocation) ข้อไหล่ไม่มั่นคง (shoulder instability) กระดูกข้อไหล่หัก (shoulder fracture)
  • เส้นเอ็นกล้ามเนื้อข้อไหล่ฉีกขาด (rotator cuff tear)
  • กระดูกงอกทับเส้นเอ็นกล้ามข้อไหล่ (subacromial impingement syndrome)
  • ข้อไหล่ติด (stiff shoulder, adhesive capsulitis, frozen shoulder)
  • ภาวะหินปูนเกาะเส้นเอ็นกล้ามเนื้อข้อไหล่ (calcific tendinitis)
  • ผ่าตัดเปลี่ยนข้อไหล่  (shoulder arthroplasty)
  • ข้อศอกหลุด (elbow dislocation) ข้อศอกไม่มั่นคง (elbow instability) กระดูกข้อศอกหัก (elbow fracture)
  • ข้อศอกติด (stiff elbow)
  • ปวดข้อศอกเรื้อรังด้านนอกจากจุดเกาะเส้นเอ็นอักเสบ (lateral epicondylitis or tennis elbow)
  • ปวดข้อศอกเรื้อรังด้านในจากจุดเกาะเส้นเอ็นอักเสบ (medial epicondylitis or golfer elbow)
  • เส้นเอ็นรอบข้อศอกฉีกขาด
  • ผ่าตัดเปลี่ยนข้อศอก (elbow arthroplasty)