ในผู้สูงอายุ เมื่ออายุมากขึ้น กล้ามเนื้อที่อ่อนแรงร่วมกับสายตาที่เริ่มเสื่อมสภาพไปตามวัยทำให้เมื่อเดินหรือทำกิจกรรมต่างๆ อาจเกิดการหกล้มได้บ่อยๆ แต่การหกล้มที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กน้อยนั้นอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้
มีการศึกษาพบว่าในการหกล้มของผู้สูงอายุแต่ละครั้ง มีโอกาสราวร้อยละ 20 ที่อาจเกิดการบาดเจ็บรุนแรงได้ โดยอาจพบเป็น การบาดเจ็บรุนแรงที่ศีรษะ เช่น เลือดออกในสมอง หรือมีการหักของกระดูก โดยเฉพาะในตำแหน่ง กระดูกข้อสะโพก กระดูกสันหลัง กระดูกข้อมือ หรือ กระดูกหัวไหล่ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่กระดูกบางเกิดการหักได้ง่าย การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นนั้นอาจทำให้เกิดผลเสียตามมา ตั้งแต่ไม่สามารถเดินได้ด้วยตนเอง ไปจนถึงเป็นผู้ป่วยติดเตียงที่ช่วยเหลือตนเองได้ลดลง
ดังนั้นการป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในการหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บดังกล่าว
การป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ สามารถทำได้โดย
1. ประเมินตัวเองว่าท่านหรือผู้สูงอายุที่อยู่ในความดูแลเป็นผู้มีความเสี่ยงในการหกล้มหรือไม่ หากมีลักษณะดังต่อไปนี้คือ
เป็นผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 75 ปี
เป็นผู้ที่มีปัญหาทางสายตา
ผู้ที่มีปัญหาทางระบบขับถ่าย กลั้นปัสสาวะได้ลำบาก
ผู้ที่มีโรคประจำตัวและมีการใช้ยาประจำหลายชนิด โดยเฉพาะยาในกลุ่มที่ออกฤทธิ์ ต่อระบบจิตประสาท อาทิเช่น ยานอนหลับ ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือ ยาแก้ปวดจากเส้นประสาท
หรือเป็นผู้ที่มีประวัติเคยหก
2. การปรับสภาพแวดล้อมในบ้านให้เหมาะสมจะช่วยให้โอกาสเกิดการหกล้มลดลงได้
ภายในบ้านควรมีแสงสว่างเพียงพอ โดยเฉพาะบริเวณทางเดิน และส่วนที่ผู้สูงอายุใช้ชีวิตเป็นประจำ เช่นห้องนอน หรือห้องน้ำ
บริเวณทางเดินไม่ควร มีของวางระเกะระกะ หากมีราวจับบริเวณทางเดินจะช่วยป้องกันการล้มได้
หลีกเลี่ยงการใช้พรมหรือสิ่งใดปูพื้นทางเดิน ซึ่งอาจทำให้เกิดการสะดุดหกล้มได้
หากเป็นไปได้ห้องน้ำควรแยกส่วนเปียกกับส่วนแห้ง เพื่อป้องกันการเหยียบพื้นส่วนที่ลื่นโดยไม่จำเป็น
3. ควรส่งเสริมผู้สูงอายุ ให้มีการออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ อาจเป็นการออกกำลังกายเบาๆ อาทิเช่น ไทเก็ก
4. การเสริมวิตามินดี ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยลดการหกล้มได้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเสริมวิตามินดีในผู้สูงอายุ
อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะได้ป้องกันเป็นอย่างดีแล้ว แต่เมื่อตัวท่านหรือผู้สูงอายุในบ้านเกิดการหกล้มขึ้น
สิ่งแรกที่ควรทำคือ อย่าตื่นตระหนก
จากนั้นสำรวจตัวเองว่ามีความรู้สึกเจ็บตรงไหนหรือไม่ โดยทั่วไปการหกล้มมักจะทำให้เกิดการบาดเจ็บได้บ่อยที่ตำแหน่ง กระดูกข้อมือ กระดูกหัวไหล่ กระดูกสันหลัง หรือ กระดูกสะโพก ควรสำรวจตำแหน่งดังกล่าวในร่างกายของท่านว่ารู้สึกเจ็บหรือไม่
หากไม่มีอาการเจ็บเป็นพิเศษที่ตำแหน่งใด ไม่ควรลุกขึ้นทันที แต่ควรมองหาตำแหน่งที่มั่นคงที่จะใช้ในการยึดจับเพื่อช่วยในการลุกขึ้น ซึ่ง อาจจะเป็นเตียง หรือเก้าอี้ที่อยู่ใกล้ๆก็ได้ เมื่อจะลุกขึ้นควรใช้สองมือจับเครื่องเรือนที่เป็นตัวช่วย แล้วค่อยๆลุกขึ้นช้าๆ จากนั้นควรนั่งพัก ก่อนที่จะทำกิจกรรมอื่นต่อไป
แต่หากรู้สึกเจ็บในร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสันหลัง หรือกระดูกสะโพก ไม่ควรขยับหรือพยายามลุกขึ้น ควรขอความช่วยเหลือจากผู้ที่อยู่อาศัยร่วมกัน ในกรณีที่ท่านเป็นผู้ดูแล หากผู้สูงอายุล้มแล้วมีอาการเจ็บที่กระดูกสันหลัง หรือกระดูกสะโพก ไม่ควรขยับหรือเปลี่ยนท่าทางของผู้สูงอายุในทันที เนื่องจากอาจทำให้มีการบาดเจ็บมากขึ้น ควรโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือจากบุคลากรทางการแพทย์ที่สามารถติดต่อได้ เพื่อมาร่วมประเมิน หรือนำส่งโรงพยาบาลถ้ามีข้อบ่งชี้ต่อไป
อ้างอิง
1.CDC (2021) Older Adult Falls. Available from http://www.cdc.gov/falls
2.NHS (2021) Falls. Available from https://www.nhs.uk/conditions/falls
3.WHO (2021) Falls. Available from http://www.who.int/new-room/fact-sheets/detail/falls