การตรวจสุขภาพและประโยชน์จากการตรวจสุขภาพ

1. การชั่งน้ำหนัก/การวัดส่วนสูง

การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ใช้เพื่อคำนวณหาค่าดัชนีมวลกาย (Body mass index หรือ BMI)

ค่าดัชนีมวลกาย ( Body mass index หรือ BMI )  = น้ำหนัก (กิโลกรัม) / ความสูงยกกำลังสอง (เมตร²)

ความสำคัญของการรู้ค่าดัชนีมวลกาย 

  • เพื่อประเมินหาส่วนไขมันในร่างกาย ซึ่งค่าดังกล่าวนิยมใช้ในการคำนวณอย่างแพร่หลาย เนื่องจากคำนวณง่ายและสามารถใช้กับทุกเพศทุกวัยและทุกเชื้อชาติ
  • ประโยชน์ใช้เพื่อดูอัตราการเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ถ้าค่าที่คำนวณได้มากหรือน้อยเกินไป เพราะหากเป็นโรคอ้วนแล้วจะมีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือดและโรคนิ่วในถุงน้ำดี แต่ในขณะเดียวกันผู้ที่ผอมเกินไปก็จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ประสิทธิภาพในการทำงานของร่างกายลดลง ดังนั้นควรรักษาระดับน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

1.1 การตรวจสัญญาณชีพ

สัญญาณชีพ คือ อาการสำคัญที่สุดของสิ่งมีชีวิตที่ช่วยบอกถึงความปกติ หรือ ความผิดปกติของร่างกาย สัญญาณชีพประกอบด้วย อัตราการหายใจ อุณหภูมิของร่างกาย ความดันโลหิต ชีพจร ค่าปกติของสัญญาณชีพของแต่ละบุคคลขึ้นกับอายุ เพศ และการตรวจในขณะพักหรือหลังการเคลื่อนไหว ค่าของสัญญาณชีพก็จะเปลี่ยนแปลงเมื่อเกิดความผิดปกติในร่างกายหรือเป็นโรคทำให้ทราบถึงสภาพร่างกายของบุคคลนั้นๆได้

1.2 การตรวจร่างกายโดยแพทย์

การตรวจร่างกาย คือ ขั้นตอนสำคัญขั้นตอนหนึ่งที่แพทย์ปฏิบัติเพื่อใช้ช่วยในการวินิจฉัยโรค ทั้งนี้การตรวจร่างกายจะดำเนินการหลังจากแพทย์ได้สอบถามอาการต่างๆของผู้ป่วยแล้ว เช่น ประวัติการเจ็บป่วยในปัจจุบัน ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต ประวัติการเจ็บป่วยของบุคคลในครอบครัว ประวัติประจำเดือน การตั้งครรภ์ การมีบุตร และประวัติการใช้ยาต่างๆรวมถึงประวัติการแพ้ยาและการแพ้อาหารหรือแพ้สารอื่นๆ

2. การตรวจเอ็กซเรย์ทรวงอก (Chest X-ray)

ประโยชน์ของการเอกซเรย์ทรวงอก เป็นการตรวจที่ช่วยยืนยันความเป็นปกติของอวัยวะสำคัญภายในช่องอก ได้แก่ ปอด หัวใจ ทางเดินหายใจ กระดูกซี่โครง เส้นเลือดใหญ่ และอวัยวะอื่นในช่องอก หากสังเกตเห็นความผิดปกติของอวัยวะใดดังกล่าว ก็ย่อมบ่งชี้ว่าอาจมีโรคที่อวัยวะนั้นๆ (การฉายรังสีเอกซเรย์ที่ทรวงอกแต่ละครั้ง จะมีค่ารังสีอยู่ที่ระดับ 0.1 mSv ซึ่งความเข้มข้นขนาดนี้จะมีผลต่อร่างกายในระดับเดียวกันกับรังสีอัลตราไวโอเลต ของบรรยากาศจากแสงแดดบริเวณชั้นผิวโลกรอบๆตัว ที่ระดับน้ำทะเลได้กระทำต่อร่างกายมนุษย์ในช่วงระยะเวลาติดต่อกัน ประมาณ 10 วัน)

*ในหญิงวัยเจริญพันธุ์นั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ได้รับรังสีเอ็กซเรย์ในช่วงตั้งครรภ์ ถ้ามีการคาดเคลื่อนของประจำเดือน หรือสงสัยว่าอาจจะตั้งครรภ์ ควรแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบ (อาจขอตรวจภาวะการตั้งครรภ์ก่อน) เพื่องดการตรวจเอกซเรย์

*ในหญิงวัยเจริญพันธุ์นั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ได้รับรังสีเอ็กซเรย์ในช่วงตั้งครรภ์ ถ้ามีการคาดเคลื่อนของประจำเดือน หรือสงสัยว่าอาจจะตั้งครรภ์ ควรแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบ (อาจขอตรวจภาวะการตั้งครรภ์ก่อน) เพื่องดการตรวจเอกซเรย์

3. การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบนและส่วนล่าง (Ultrasound upper and lower abdomen)

การตรวจอัลตราซาวด์ คือ การใช้คลื่นเสียงความถี่สูงในการตรวจ โดยอาศัยหลักการ ดูดซับและสะท้อนของคลื่นเสียงที่แตกต่างกัน ระหว่างอวัยวะแต่ละชนิด และระหว่างเนื้อเยื่อปกติและผิดปกติ แล้วแปลเป็นภาพแสดงออกมาทางหน้าจอแสดงภาพ การตรวจวิธีนี้ใช้ได้ดีกับอวัยวะที่มีลักษณะเป็นก้อนแข็ง เช่น ตับ ไต ม้าม ตับอ่อน มดลูก รังไข่ และต่อมลูกหมาก เป็นต้น และสามารถตรวจกับอวัยวะที่บรรจุของเหลวอยู่ภายใน เช่น หัวใจ ถุงน้ำดี กระเพาะปัสสาวะ ตรวจเด็กในครรภ์ เป็นต้น การตรวจอัลตราซาวด์ยังไม่พบรายงานว่าก่อให้เกิดอันตรายใดๆต่อผู้ป่วย

4. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG, Electrocardiography)

เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการคัดกรองความผิดปกติของหัวใจเบื้องต้น ข้อมูลที่ได้รับจากการตรวจ EKG ได้แก่ อัตราการเต้นของหัวใจ จังหวะการเต้นของหัวใจ การนำกระแสไฟฟ้าของหัวใจ รอยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และอาจพบลักษณะคลื่นหัวใจที่แสดงถึงเส้นเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบตัน เป็นต้น เมื่อพบว่าคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ อาจไม่ได้แปลว่า ผู้ป่วยมีความผิดปกติของหัวใจจริงๆ อาจมีความจำเป็นต้องตรวจด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม

5. การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC, Completed Blood Count)

CBC เป็นการตรวจหาปริมาณของเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง เกร็ดเลือด ตรวจความเข้มข้นของระดับฮีโมโกลบินในเลือด ตรวจปริมาตรเม็ดเลือดแดงอัดแน่น ตรวจดัชนีเม็ดเลือดแดง ตรวจอัตราส่วนของเม็ดเลือดขาวแต่ละชนิดในเลือด การตรวจนี้มีประโยชน์เพื่อช่วยบอกถึงภาวะการอักเสบติดเชื้อภายในร่างกาย โรคโลหิตจาง โรคทางพันธุกรรม (เช่น ธาลัสซีเมีย) มะเร็งเม็ดเลือด เป็นต้น

6. การตรวจปัสสาวะสมบูรณ์แบบ (UA, Urinalysis)

UA เป็นการตรวจปัสสาวะเบื้องต้นถึงโรคของระบบทางเดินปัสสาวะ (ไต , ท่อไตกระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ) เช่น การติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ นิ่ว โรคไตเรื้อรัง รวมถึงโรคของอวัยวะระบบอื่น เช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น

7. การตรวจน้ำตาลในเลือด (FBS, Fasting Blood Sugar) (HbA1C, Hemoglobin A1C)

FBS ตรวจเพื่อใช้คัดกรองและวินิจฉัยผู้ที่มีอาการแสดงหรือมีปัจจัยเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน นอกจากนี้ยังใช้เพื่อติดตามระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อประเมินผลการรักษาและตรวจติดตามผู้ป่วยเบาหวาน

HbA1C เป็นการตรวจน้ำตาลสะสมเฉลี่ยในช่วง2-3เดือนที่ผ่านมา มีความสำคัญเพื่อช่วยประเมินผลการรักษาและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานในระยะยาวได้เช่น ภาวะไตเสื่อม จอตาเสื่อม ระบบหลอดเลือดหัวใจและระบบปลายประสาทเสื่อม

8. การตรวจการทำงานของไต (BUN, Blood Urea Nitrogen) (Cr, Creatinine)

  • BUN (Blood Urea Nitrogen)เป็นการวัดปริมาณไนโตรเจนในเลือด ร่างกายจะย่อยสลายโปรตีนที่ตับ ชั้นต้น สารของเสียจะอยู่ในรูปของแอมโมเนีย (HN) ต่อจากแอมโมเนีย จึงสร้างเป็นยูเรีย (Urea) และจะนำของเสียนี้ไปกำจัดผ่านไตเพื่อออกเป็นปัสสาวะต่อไป ส่วนประกอบสำคัญของยูเรีย
    ยูเรีย (Urea) คือไนโตรเจน หากไตเสื่อมก็จะมีการคั่งของไนโตรเจน
  • การตรวจ BUN (Blood Urea Nitrogen) ช่วยให้ทราบว่าไตทำงานเป็นปกติหรือไม่ ประเมินการขาดน้ำ การรับอาหารประเภทโปรตีนสูงมากเกินไป
  • Cr (Creatinine) เป็นของเสียที่เกิดจากกล้ามเนื้อ สาร Creatinine จะเกิดขึ้นทุกวัน และมีค่าคงที่ คือมีในปริมาณเท่าๆกันทุกวันในแต่ละคน ซึ่งสารนี้จะถูกขับออกจากร่างกายผ่านไต แต่หากไตทำงานผิดปกติ หรือไตเสื่อมด้วยเหตุผลใดก็ตาม การกำจัดสาร Creatinine จะลดลง สารนี้จะถูกกรองที่ไต และขับออกทางปัสสาวะ ดังนั้นหากค่านี้สูง ก็หมายถึงการทำงานของไตลดลง
  • การตรวจ Creatinine เป็นตัวบ่งชี้ที่ดีในการคัดกรอง วินิจฉัย ประเมินการรักษา และติดตามการรักษาภาวะโรคไตได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคไตเสื่อมต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือผู้ที่ได้รับยาบางชนิด เป็นต้น

9. การตรวจไขมันในเลือด (Lipid Profile ได้แก่ Cholesterol, Triglyceride, HDL, LDL)

ไขมันในร่างกายมีทั้งประโยชน์ และโทษ

  • ประโยชน์ของไขมันเป็นสารตั้งต้นในการผลิตฮอร์โมนต่างๆ เอ็นไซม์ และสารประกอบที่สำคัญของเซลล์ในร่างกาย
  • โทษของไขมัน หากมีมากเกินไป ไขมันจะสะสมที่ผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็งและตีบ เกิดการอุดตัน อาจก่อให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดได้ เนื่องจากไขมันในร่างกายมีหลายชนิด แต่แพทย์นิยมสั่งเจาะตรวจได้แก่
  • Total cholesterol (TC) ร้อยละ 30 มาจากอาหาร ส่วนที่เหลือร้อยละ 70 ผลิตโดยตับ หากมีมากเกินไปจะทำให้เกิดโรคได้
  • Low-density lipoprotein (LDL) เป็นไขมันที่ก่อโรค หากมีสูงเกินไปจะทำให้หลอดเลือดตีบได้
  • High-density lipoprotein(HDL) เป็นไขมันที่ดี ป้องกันเส้นเลือดตีบ ยิ่งมีค่าสูงยิ่งดี
  • Triglycerides (TG) เป็นไขมันที่เกิดจากอาหารแท้ๆ ทั้งจากอาหารไขมันโดยตรง และคาร์โบไฮเดรต ถ้ามีมากเกินไปจะทำให้เกิดโรคได้เช่นกัน

10. ตรวจการทำงานของตับ(ตรวจเอนไซม์ตับประกอบไปด้วย SGPT, SGOT, ALP)

การตรวจการทำงานของตับ ตรวจจากเอนไซม์ตับ ประกอบไปด้วยการตรวจ

  • SGPT (Serum glutamic pyruvate Transaminase) หรือ ALT ( Alanine aminotransferase) เป็นเอ็นไซม์ในตับที่สำคัญต่อการสร้างพลังงานพบได้ในเนื้อเยื่อต่างๆ เช่นที่ตับ กล้ามเนื้อ หัวใจ แต่พบมากที่สุดในตับ ถ้าตับทำงานผิดปกติ SGPT จะรั่วออกมาจากเซลล์ เข้ามาในกระแสเลือด SGPT จึงเป็นตัวบ่งชี้สำคัญของโรคตับโดยเฉพาะโรคตับอักเสบ โรคตับแข็ง
  • SGOT (Serum Glutamic oxaloacetic transaminase) หรือ AST (Aspartate aminotransferase) เป็นเอ็นไซม์ที่ประกอบด้วยโปรตีนที่ตับสร้างขึ้น และพบใน เอ็นไซม์ของเม็ดเลือดแดง หัวใจ กล้ามเนื้อ ตับอ่อน ไต ไม่ได้เจาะจงต่อตับโดยตรง SGOT จึงเป็นตัวที่ช่วยบอกความผิดปกติของเซลล์ตับ เซลล์กล้ามเนื้อ หัวใจ เซลล์กล้ามเนื้อลาย
  • ALP (Alkaline phasphatase) เป็นกลุ่มของเอ็นไซม์ชนิด phosphatase ซึ่งจะทำงานได้ดีในสภาวะแวดล้อมซึ่งเป็นด่าง (alkaline) ขณะเมื่อมีค่า Ph 10 ALP ถูกสร้างขึ้นมาจากหลายแหล่ง ตับเป็นแหล่งที่ใหญ่ที่สุด รองลงมาคือกระดูก เยื่อเมือกในลำไส้เล็ก ส่วนน้อยได้มาจากไตและรก ALP เป็นตัวสำคัญที่ช่วยวินิจฉัยความผิดปกติของตับ ท่อน้ำดี และกระดูก

11. ตรวจกรดยูริคในเลือด (Uric Acid)

กรดยูริคเป็นผลจากขบวนการสลายสารพิวรีนในร่างกายซึ่งสารพิวรีนเกิดจากการสลายโปรตีนของร่างกาย ผู้ที่มีกรดยูริกสูงอาจเกิดจากความผิดปกติของยีนในการสลายสารพิวรีน และยังเกิดจากร่างกายสร้างขึ้นเองจากขบวนการเมตะบอลิซึม จากอาหารที่รับประทานเข้าไป กรดยูริคขับออกจากร่างกายทางระบบทางเดินอาหารประมาณ 1 ใน 3 ของปริมาณกรดยูริคที่ร่างกายสร้างได้ในแต่ละวัน อีก 2 ใน 3 ขับออกทางไต

การตรวจกรดยูริคในเลือดเพื่อให้ทราบว่าร่างกายมีการสร้างและกำจัดออกได้ตามปกติหรือไม่ เพื่อดูอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคเก๊าท์ เป็นสัญญาณบ่งชี้ของสุขภาพของไตด้วย

12. การตรวจตา (Eye) ตรวจวัดสายตา (Visual acuity) ตรวจตาบอดสี (Color vision test)

การตรวจวัดสายตา (Visual acuity) เพื่อหาความผิดปกติของสายตา เช่น การมองเห็น สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง เป็นต้น

การตรวจตาบอดสี (Color vision test) ตรวจดูความผิดปกติของการเห็นสีเพื่อดูว่ามีภาวะตาบอดสีหรือไม่